ธุรกิจปูนซีเมนต์ ปูนเม็ด และปูนสำเร็จรูป
บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ ปูนเม็ด และปูนสำเร็จรูปรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้ตราทีพีไอโพลีน โดยมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ปูนซีเมนต์ทั้งหมดของบริษัทมีคุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย สหรัฐอเมริกา (ASTM) และสหพันธรัฐยุโรป (EU) ทั้งนี้บริษัทเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ของคนไทยรายแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลด้านคุณภาพ ISO 9002 สามารถผ่านมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถส่งออกปูนทีพีไอโพลีนไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งขึ้นชื่อว่าดูแลและระมัดระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดในโลก
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกของไทย ที่ได้รับอนุมัติฉลากคาร์บอนทั้งผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และปูนสำเร็จรูป ทั้งนี้ตราฉลากคาร์บอนที่ได้รับถือเป็นการรับรองกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ด้วยความพร้อมของเครื่องจักรที่ทันสมัย ประกอบกับโรงงานปูนซีเมนต์ 4 สายการผลิต (โดยสายการผลิตที่ 4 ได้แล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2559) กำลังการผลิตรวม 13.5 ล้านตันต่อปี ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกัน โดยติดกับเหมืองหินปูนของบริษัท รวมทั้งมีเครือข่ายการตลาดและการจัดส่งที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ นอกจากนี้บริษัทในกลุ่มทีพีไอโพลีน ยังสามารถนำพลังงานความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตของโรงปูนซีเมนต์ทั้ง 4 สายการผลิต และพลังงานเชื้อเพลิง RDF มาผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้กลุ่มบริษัททีพีไอโพลีนเป็นผู้นำในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อม
ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
ในปี 2558 ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 31 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 11 จากประมาณ 35 ล้านตันในปี 2557 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะถดถอย ราคาผลผลิตทางการเกษตรทั้งข้าวและยางพาราตกต่ำลงค่อนข้างมาก อีกทั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนชะลอตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในปี 2558 ลดต่ำลง อย่างไรก็ตามในปี 2558 บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บล็อคมวลเบา (ชนิด ACC) ผลิตภัณฑ์ Digital Board และผลิตภัณฑ์สำหรับงานศิลปะ เป็นต้น
ด้านตลาดส่งออกปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์จากปูนซีเมนต์ชนิดอื่นๆ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาคการก่อสร้างในตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ในปริมาณมาก โดยเฉพาะการพัฒนางานโครงสร้างพื้นฐานในประเทศในเขตอาเซียน
ในปี 2559 บริษัทคาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน และระบบโครงข่ายการคมนาคมในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคของภาครัฐ รวมทั้งจากการลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน นอกจากนี้การเตรียมตัวเข้าสู่ ASEAN Economics Community (AEC) จะทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และอำแภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป
ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99% โดยบริษัท) ดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า ดังนี้
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งจำนวน 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 20 เมกกะวัตต์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 40 เมกกะวัตต์ โดยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 20 เมกกะวัตต์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า ปริมาณ 20 เมกกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา โดยหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีอัตราพิเศษ (Adder) เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าปกติอีก 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 60 เมกกะวัตต์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า ปริมาณ 55 เมกกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีอัตราพิเศษ (Adder) เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าปกติอีก 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง กำลังการผลิต 30 เมกกะวัตต์ ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 โดยในช่วงแรกได้นำไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทก่อน หลังจากนั้นจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ (กำลังการผลิต 30 เมกกะวัตต์) ร่วมกับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 70 เมกกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 100 เมกกกะวัตต์ ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า ปริมาณ 90 เมกกะวัตต์ ภายในไตรมาสแรกปี 2560 ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 70 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 3,300 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2559 โดยเมื่อแล้วเสร็จ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 เมกกะวัตต์ ตามข้อ 4 ข้างต้น และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 70 เมกกะวัตต์ จะจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า 90 เมกกะวัตต์ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ) ภายในไตรมาสแรกปี 2560 โดยหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีอัตราพิเศษ (Adder) เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าปกติอีก 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน/RDF กำลังการผลิต 150 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 7,300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2560 โดยจะขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน/RDF กำลังการผลิต 70 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 900 ล้านบาทเป็นโครงการลงทุนในปี 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนปี 2560 โดยเมื่อแล้วเสร็จจะขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ธุรกิจผลิตแผ่นฟิล์ม Polene Solar® กาวน้ำ และกาวผง
บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99% โดยบริษัท) เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นฟิล์มพลาสติกประเภท EVA Film Encapsulate ที่ใช้ในงานผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ งานกระจกนิรภัย Wrap Film Top Sheet Masking Film แผ่นพลาสติกแปรรูป และแผ่นรองกันลื่น ภายใต้แบรนด์ Polene Solar® และ Vista solar® โดยได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.9001-2552 และ ISO 9001:2008 มีเครื่องจักรทั้งหมด 10 สายการผลิต กำลังการผลิตรวมประมาณ 20,100 ตันต่อปี แบ่งเป็น (1) เครื่องจักรสำหรับผลิตภัณฑ์ Polene Solar® มีกำลังการผลิต 3,100 ตันต่อปี และ (2) เครื่องจักรสำหรับผลิตภัณฑ์ Vistasolar® มีกำลังการผลิต 17,000 ตันต่อปี โดยโรงงานผลิตได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
นอกจากนี้ บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กาวน้ำ (EVA Emulsion) และกาวผง โดยกาวน้ำจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ผลิตจาก Ethylene และ Vinyl Acetate จัดเป็นสินค้าประเภท “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” (Green Product) ใช้เป็นส่วนประกอบการผลิตแผ่นปกหนังสือ ถุงบรรจุคุณภาพสูง เครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติก สามารถแบ่งประเภทตามส่วนประกอบ และวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์ EVA Film Encapsulate เป็นส่วนประกอบในการผลิตแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell Module) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นกาวยึดติดส่วนประกอบทั้งหมดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ มีคุณสมบัติสำคัญในการปกป้องอายุการใช้งานของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้มากกว่า 25 ปีขึ้นไป ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมี 2 แบรนด์ ประกอบด้วย
- Polene Solar® Film เป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด เปิดตัวครั้งแรกในปี 2550 โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนลียีขั้นสูง จากความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำในประเทศไทย และทีมวิจัยพัฒนาที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านพอลิเมอร์มานานกว่า 10 ปี มีคุณสมบัติในการส่งผ่านของแสงและการป้องกันรังสี UV ดี สามารถยึดติดกับกระจกได้ดี เหมาะสำหรับการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งชนิด Crystalline และ Amorphous Thin Film เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และอินเดีย นอกจากนี้ บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น งานกระจกนิรภัย งานกระจกสำหรับตกแต่งอีกด้วย
- Vista solar® Film เป็นผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติกที่มีชื่อเสียง และเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งบริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ได้เข้าซื้อกิจการผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติก Vista solar® ในปี พ.ศ. 2557 และย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย ส่งผลให้บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ได้รับสัดส่วนทางการตลาดจากลูกค้ารายเดิม และทำให้บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวควบรวมทั้งในส่วนของเทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักร ทรัพย์สินทางปัญญา และสัดส่วนทางการตลาด โดยได้ผลิตสินค้าออกมารองรับความต้องการของลูกค้าทั่วโลก มีตลาดหลักอยู่ในทวีปยุโรป
- ผลิตภัณฑ์ Blown Film เป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกที่ใช้เทคโนโลยีในการเป่าฟิล์มในการขึ้นรูปแบ่งเป็น ฟิล์มยืด (Wrap Film) ฟิล์มคลุมสินค้า (Top Sheet) และฟิล์มกันเหนียวติด (Masking Film) นอกจากนี้ บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ยังผลิตแผ่นพลาสติกแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมห้องเย็น และห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ด้วย
- ผลิตภัณฑ์แผ่นรองกันลื่น Polene Sheet เป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกเอนกประสงค์ สำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันการลื่นล้ม หรือป้องกันรอยขีดข่วนภายในบ้าน เช่น ในห้องครัว ในห้องนั่งเล่น หรือในห้องน้ำ
บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด มีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ EVA Film Encapsulant ในอัตราร้อยละ 75 ผลิตภัณฑ์ Blown Film ร้อยละ 14 และแผ่นพลาสติกกันลื่น ร้อยละ 11 ตามลำดับ
โอกาสหรือข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจโซลาร์ฟิล์ม
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ถือว่าเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ ที่หลายๆ ประเทศให้การสนับสนุนและหันมาสนใจลงทุนกันมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมัน และถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิตแผงพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์จึงเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งในการใช้แก้ปัญหาด้านพลังงานของโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโอกาส หรือข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ อันได้แก่
1) นโยบายของรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศ จากการที่รัฐบาลมุ่งเน้นการส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่กระทรวงพลังงานจะปรับเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าแสงแดดให้เพิ่มขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมนโยบายการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป โดยไม่จำกัดระยะเวลาและปริมาณการเสนอขายไฟฟ้า ซึ่งนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐดังกล่าวนี้ อาจกระตุ้นให้ยอดการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ EVA Film Encapsulate ของบริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
นอกจากนโยบายของรัฐบาลในประเทศแล้ว นโยบายจากต่างประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด กล่าวคือหากรัฐบาลในแต่ละประเทศส่งเสริมนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็จะส่งผลให้ บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด มียอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น นโยบายของประเทศญี่ปุ่นที่เปิดประมูลโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เนื่องจากประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ หรือผลการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส ซึ่งระบุถึงข้อตกลงที่ประเทศต่างๆ เห็นพ้องกัน ในการจัดหาเงินช่วยเหลือมูลค่า 100,000 ล้านดอลล่าร์แก่ประเทศยากจน เพื่อใช้ลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด มีเป้าหมายเพื่อจำกัดระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกินระดับ 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
2) ราคาน้ำมันและถ่านหิน เนื่องด้วยน้ำมันดิบและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า หากราคาของน้ำมันและถ่านหินมีแนวโน้มลดลง ก็จะส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตและยอดขายธุรกิจของบริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ด้วย
3) เทคโนโลยี หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิม หรือเทียบกับต้นทุนในการผลิตพลังงานจากพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และหากต้นทุนการผลิตลดลง ประเทศต่างๆ ก็อาจหันมาใช้ทางเลือกนี้ในการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท
สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโซลาร์ฟิล์ม
บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ไม่มีคู่แข่งทางการตลาดในประเทศไทย แต่มีคู่แข่งในต่างประเทศเพียง 3-5 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการในประเทศจีน เกาหลีใต้ และสเปน ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศจีนถือว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญมาก เนื่องจากคู่แข่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ และผลิตภัณฑ์มีคุณภาพอยู่ในระดับดี
การคาดการณ์ในปี 2559
ในปี 2559 บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ EVA Film Encapsulate สำหรับลูกค้าในประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้การสนับสนุนธุรกิจผลิตแผงพลังงานแสงทิตย์ นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แผ่นฟิล์มพลาสติกของบริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด ที่ใช้ในการทำแผงพลังงานแสงอาทิตย์และกระจกนิรภัยมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับตลาดต่างประเทศ บริษัท ทีพีไอ ออลซีซั่นส์ จำกัด คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากข้อตกลงจากการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส สรุปว่า ประเทศสมาชิกจะจัดหาเงินช่วยเหลือมูลค่า 100,000 ล้านดอลล่าร์แก่ประเทศยากจน เพื่อใช้ลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกินระดับ 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ดังนั้น ธุรกิจผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกอาจได้รับผลประโยชน์ในด้านความต้องการผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ผลิตแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากผลสรุปของการประชุมครั้งนี้ด้วย
ธุรกิจกระเบื้องคอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์
บริษัทได้ลงทุนในโรงงานกระเบื้องคอนกรีต มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท โดยบริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายกระเบื้องคอนกรีตได้เต็มประสิทธิภาพในปี 2557 นอกจากนี้บริษัทได้ลงทุนในโรงงานไฟเบอร์ซีเมนต์ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 3,300 ล้านบาท โดยบริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายไฟเบอร์ซีเมนต์ได้เต็มกำลังการผลิตในปี 2558 ทั้งนี้โรงงานกระเบื้องคอนกรีต และโรงงานไฟเบอร์ซีเมนต์ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนผลิตภัณฑ์กระเบื้องคอนกรีต รวมทั้งไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อทีพีไอ ที่บริษัทมีความมุ่งมั่น และพัฒนาทั้งด้านการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผสมผสานด้วยวัตถุดิบปูนซีเมนต์ทีพีไอคุณภาพสูง ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง ทนทาน มีมิติ โดดเด่นสวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน
ทั้งนี้บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Digital Printing เป็นรายแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสามารถใช้ทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ อาทิเช่น ไม้ หินอ่อน หินแกรนิต เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทมีการให้บริการครบวงจรในการออกแบบโครงหลังคาสำเร็จรูปอย่างมืออาชีพสำหรับระบบหลังคาและระบบกันความร้อน สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การดำเนินงานก่อสร้างมีความสมบูรณ์แบบ รับประกันคุณภาพในการติดตั้งหลังคาโดยทีมงานมืออาชีพ มีมาตรฐานวัสดุและขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ มีความสวยงาม คงทน แข็งแรง อายุการใช้งานยาวนานด้วยอุปกรณ์คุณภาพและทีมงานที่มีประสิทธิภาพสูง
ภาวะอุตสาหกรรมกระเบื้องคอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์
สำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเบื้องคอนกรีต และกลุ่มไฟเบอร์ซีเมนต์ มีผู้ผลิตและจำหน่ายหลักประมาณ 6 ราย ประกอบด้วย บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย บมจ. กระเบื้องหลังคาตราเพชร บมจ. ทีพีไอโพลีน บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง บจก. มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ และบจก.กระเบื้องโอฬาร โดยผู้ผลิตรายใหญ่ ที่มีโรงงานปูนซีเมนต์เองจะมีความได้เปรียบด้านการควบคุมต้นทุนการผลิต ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ จากเครื่องจักรที่ทันสมัยเทคโนโลยีสูง เพื่อนำสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการให้แก่กลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อเป็นการขยายตลาดและรักษาส่วนแบ่งการตลาด
ทั้งนี้ เนื่องด้วยข้อจำกัดของการนำไม้จริงมาใช้งานตกแต่งหรือก่อสร้าง ทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม ไฟเบอร์ซีเมนต์มีโอกาสเติบโตสูง สามารถทดแทนงานไม้ตกแต่งได้เป็นอย่างดี มีคุณสมบัติที่ดีกว่าไม้จริงด้านการทนความชื้น มีความหยืดหยุ่น ปราศจากปลวกและแมลง ราคาถูกกว่าไม้จริง และหาซื้อง่าย
บริษัทมีนโยบายในการส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ และกระเบื้องคอนกรีต ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อาทิเช่น ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เขมร และพม่า เป็นต้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีแผนในการขยายสู่ประเทศอื่นๆ และทวีปอื่นๆ
ธุรกิจเม็ดพลาสติก LDPE / EVA
บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก LDPE จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ LDPE Homopolymer (LDPE) และ LDPE Copolymer (EVA หรือ Ethylene Vinyl Acetate) โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตรวม 158,000 ตันต่อปี ทั้งนี้เม็ดพลาสติก LDPE ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายประเภท ส่วนเม็ดพลาสติก EVA ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรองเท้า โดยบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก LDPE และ EVA ในประเทศ ประมาณ 20% และ 90% ของปริมาณการจำหน่ายทั้งหมดในประเทศ ตามลำดับ นอกจากนี้บริษัทยังเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก EVA
ภาวะอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก LDPE/EVA
ในปี 2558 ตลาดเม็ดพลาสติกในประเทศมีความซบเซาต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาสแรก ทำให้เม็ดพลาสติกมีราคาลดลงเป็นอันมาก ผู้ใช้เม็ดพลาสติกพยายามไม่ซื้อเม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง นอกจากนี้สินค้าอุปโภค บริโภคมีปริมาณการค้าในรอบปีตกต่ำมาก ทั้งนี้ในปี 2557 อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก โดยผู้ประกอบการถุงบรรจุภัณฑ์ต่างลดกำลังการผลิต หรือ ปิดกิจการลง ส่งผลให้ตลาดเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA ในประเทศลดลงเช่นเดียวกัน
ด้านตลาดต่างประเทศมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้ตลาดส่งออกพลาสติกที่สำคัญของไทยยังคงไม่สามารถรองรับปริมาณสินค้าที่ผลิตจากไทยได้ นอกจากนี้ ในปี 2558 คู่แข่งสำคัญในประเทศเกาหลี ได้มีการเพิ่มกำลังการผลิต ประกอบกับคู่แข่งในประเทศแถบตะวันออกกลางและจีน สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกได้เต็มกำลังการผลิต จึงส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกทุกชนิดลดต่ำลง
ในปี 2559 บริษัทคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกทั้งในและต่างประเทศจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและในสหภาพยุโรปจะฟื้นตัวขึ้น และจะส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกของไทยดีขึ้นด้วย นับตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2559 โดยราคาเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA น่าจะคงที่ ในขณะที่ราคาวัตถุดิบเริ่มลดลง
สำหรับตลาดส่งออก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้มีการค้นพบเชลล์แก๊ส และมีการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีกัลคอมเพล็กซ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้นทุนแก๊สที่ลดต่ำลงจะทำให้มีการส่งออกปิโตรเคมีที่จะเริ่มผลิตและส่งออกในปี 2559 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนปิโตรเคมีในตลาดโดยรวมลดต่ำลง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกของบริษัท โดยจะให้มีต้นทุนลดต่ำลง ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาคที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากแนฟต้า ซึ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้นจะเริ่มลดราคาลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการประกอบการของบริษัทในปี 2559
โรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน RDF (Refuse Derived Fuel)
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99% โดยบริษัท) ดำเนินธุรกิจโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท โดยดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2554 โดยมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในบริเวณเขตโรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี ทำให้บริษัทสามารถใช้เชื้อเพลิง RDF ที่ผลิตได้ ทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหินบางส่วนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้ ถ่านหิน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้ใช้ RDF ดังกล่าวทดแทนถ่านหิน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ที่ได้กล่าวข้างต้น โครงการดังกล่าวได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
การผลิตเชื้อเพลิง RDF ดังกล่าว เป็นการช่วยบริหารจัดการขยะของประเทศ โดยนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานความร้อน แทนการจัดการขยะด้วยวิธีดั้งเดิม เช่น การเทกอง และการฝังกลบ ซึ่งเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน และเป็นแนวทางบริหารจัดการขยะเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด อยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิง RDF มูลค่าโครงการ 1,450 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 ทั้งนี้เพื่อรองรับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างดังกล่าวข้างต้น
ปัจจุบันบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับจัดการขยะ ดังนี้
- การรับบริหารจัดการบ่อขยะเก่า โดยการรื้อและคัดแยกขยะจากบ่อเก่า เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง RDF สำหรับโรงไฟฟ้า โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด เป็นผู้เข้าไปดำเนินการเอง หรือ ผ่านบริษัทผู้รับเหมาช่วง
- การรับกำจัดขยะชุมชน จากหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ บริษัทเอกชนที่รับเหมาช่วง เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง RDF โดยการตั้งเกณฑ์ค่ากำจัด หรือค่าตอบแทนตามคุณภาพของขยะที่แหล่งรับซื้อ
- การรับซื้อขยะคัดแยก ซึ่งบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้รับซื้อขยะคัดแยกจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิง เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้า
คู่แข่งในการรับซื้อเชื้อเพลิง RDF
คู่แข่งในการรับซื้อเชื้อเพลิง RDF คือโรงไฟฟ้า หรือโรงงานปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตามบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัดได้ใช้ RDF เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด เอง นอกจากนี้ในปัจจุบันราคาถ่านหินในตลาดโลกมีราคาลดต่ำลงมาก ทำให้การใช้เชื้อเพลิง RDF เพื่อทดแทนถ่านหินมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ลดต่ำลง ส่งผลให้การแข่งขันเพื่อรับซื้อเชื้อเพลิง RDF ลดลงด้วย
ทั้งนี้ การนำ RDF มาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์สูง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่หน่วยงานทางการ โดยได้รับค่าขายไฟฟ้าในอัตราพิเศษ (Adder) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ที่สามารถขายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานทางการเพียงไม่กี่ราย โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ที่ใหญ่ที่สุด และมีการขายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานทางการเรียบร้อยแล้ว
แหล่งวัตถุดิบ และจำนวนผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF หลายราย ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดกำลังการผลิต หรือ กำลังคัดแยกขยะที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตามได้มีผู้ผลิต RDF บางรายที่เดิมได้รับสัญญาการจัดการขยะจากหน่วยงานภาครัฐ และมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF เอง แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะจุดคุ้มทุนซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายได้ผันตัวเองจากความตั้งใจเดิมที่จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF มาเป็นผู้ผลิตเชื้อพลิง RDF เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้มีนโยบายที่จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการจัดการขยะเพื่อนำมาคัดแยกตามบ่อขยะที่มีปริมาณขยะมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นอีกแนวทางในการจัดเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการในอนาคต
นโยบายภาครัฐ
ภาครัฐได้มีการกำหนดเป็นแผนนโยบายเรื่องการจัดการขยะตกค้างและขยะใหม่ โดยได้สนับสนุนให้มีการดำเนินการจัดการขยะเก่าเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน มีการจัดงบประมาณ เช่น การขนย้ายขยะเก่าจากจังหวัดต่างๆ เพื่อส่งมายังโรงงาน RDF ซึ่งนับเป็นนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบเพื่อป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF โดยตรง
นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีนโยบายยกเลิกการกำจัดขยะในบ่อฝังกลบ หรือ การเทกอง ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ในการกำจัดขยะ ทั้งนี้นโยบายของภาครัฐดังกล่าวถือเป็นการผลักดันให้ผู้ที่มีหน้าที่จัดการขยะในแต่ละพื้นที่ต้องหาแนวทางการกำจัดขยะด้วยวิธีใหม่ ซึ่งการจัดส่งขยะเข้าโรงงานผลิต RDF หรือการตั้งโรงงานคัดแยกขยะ เพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงไฟฟ้า หรือ โรงปูนซีเมนต์ เป็นต้น จึงถือเป็นนโยบายของภาครัฐที่ได้สนับสนุนการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้แก่โรงงานผลิต RDF หรือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF
อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐส่งเสริมให้มีการจัดการขยะเพื่อใช้ในการผลิตพลังงาน และการมีมาตรฐานการสนับสนุนต่างๆ ก็ทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่จำนวนมากที่สนใจ หรือเข้ามาสู่ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะขนาดเล็กมาก ประเภท VSPP (ขนาดน้อยกว่า 10 เมกกะวัตต์) ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในการจัดหาวัตถุดิบขยะ RDF มากขึ้น แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้า VSPP ดังกล่าว ได้รับค่าไฟฟ้าเป็น FEED- IN –TARIFF (FIT) ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ระบบ ADDER อีกทั้งโรงไฟฟ้า VSPP ดังกล่าวจัดเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีการประหยัดจากขนาดการผลิต (Economic of scale) จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามา เสียเปรียบในด้านต้นทุนการผลิต เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด
ข้อได้เปรียบของโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด
-
มีมาตรฐานเทคโนโลยีในการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่เหนือกว่า สามารถบริหารจัดการขยะในรูปแบบต่างๆเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้เชื้อเพลิง RDF ที่มีคุณภาพ และปริมาณมากกว่า นอกจากนี้หน่วยงานผู้ส่งขยะ เกิดความมั่นในมาตรฐาน ด้านการจัดการของเสียของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ที่ดีกว่าผู้ประกอบการอื่น
-
มีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต เนื่องจากมีขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่กว่า
นอกจากนี้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มีนโยบายสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบเชื้อเพลิง RDF ดังนี้
- การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่ทำหน้าที่ในการจัดการขยะในแต่ละท้องที่ ในการนำขยะมากำจัดโดยการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง โดยที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน (WIN-WIN) เช่น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของแต่ละท้องถิ่นลดลงหรือเท่าเดิม แต่สามารถกำจัดขยะได้หมดไป
- การเป็นทางเลือกในการจูงใจให้ หน่วยงานที่มีแผนทำโรงไฟฟ้าขยะ เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นโรงงานผลิตขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ซึ่งมีการลงทุนที่ต่ำกว่า มีความความเสี่ยงน้อยกว่า และมีปัญหาเรื่องการต่อต้านน้อยกว่าโรงไฟฟ้า ทั้งนี่เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิง RDF
- การสนับสนุบการขนส่งขยะคัดแยก หรือเชื้อเพลิง RDF โดยการใช้ระบบการขนส่งร่วมกับการขนส่งปูนซีเมนต์ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ
บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด (ถือหุ้น 99.99% โดยบริษัท) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่ลำดับ 2 ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 13% ของปริมาณการจำหน่ายทั้งหมดในประเทศ โดยมีจุดเด่นด้านคุณภาพสินค้า และการพัฒนาปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่อง
ทีพีไอ คอนกรีต มีคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด และบริษัท เอเชียคอนกรีต จำกัด นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายย่อยอีกจำนวนพอสมควร
ภาวะอุตสาหกรรมคอนกรีตผสมเสร็จ
อุตสาหกรรมคอนกรีตผสมเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีปริมาณการผลิตลดลงประมาณร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากภาคการก่อสร้างชะลอตัวลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ซบเซา จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2558 ธุรกิจคอนกรีตเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว จากการลงทุนด้านการก่อสร้าง และผลของนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล ส่งผลให้การลงทุนด้านการก่อสร้างของภาครัฐขยายตัวสูงมาก อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัว ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการใช้คอนกรีตผสมเสร็จในปี 2558 หดตัวลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ในปี 2559 ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกมาจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในภาครัฐโดยเฉพาะงบด้านการลงทุน รวมถึงการขยายแนวรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟรางคู่ออกสู่ภูมิภาคต่างๆ และการสร้างมอเตอร์เวย์อีก 3 เส้นทาง รวมถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวตามแนวเส้นทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ธุรกิจอิฐมวลเบา
บริษัทได้ลงทุนในโรงงานอิฐมวลเบา ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ในปี 2558 ทั้งนี้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบาได้เติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเร่งรัดงานก่อสร้างของโครงการต่างๆ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี และทำให้ตลาดอิฐมวลเบาขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยโรงงานอิฐมวลเบายังสามารถที่จะผลิตผนังสำเร็จรูปจากวัสดุเดียวกับอิฐมวลเบาได้ ทั้งนี้โครงการอิฐมวลเบามีจุดเด่นคือ สามารถใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่บริษัทผลิตได้เอง มากกว่าร้อยละ 90 รวมถึงการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำส่วนเหลือจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วมาใช้ในกระบวนการผลิตอิฐมวลเบาซึ่งจะส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ภาวะอุตสหากรรมอิฐมวลเบา
ผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบา มีผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่ ประมาณ 5 ราย ซึ่งเครื่องมีหมายการค้าหลัก ประกอบด้วย Q-CON SUPER BLOCK THAI CON SMART BLOCK และ DIAMOND BLOCK
ในช่วงที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบามีอัตราการเจริญเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง มีการใช้งานทดแทนอิฐมอญ แต่จากสภาวะเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ประกอบกับมีการขยายกำลังการผลิตจากผู้ผลิตมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยรวม ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามบริษัทมีเครื่องจักรใหม่และทันสมัย และมีนโยบายพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ขนาดต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของลูกค้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการขยายตลาดและรักษาส่วนแบ่งตลาดอิฐมวลเบา
โรงงานผลิตเชื้อเพลิงเหลว (Pyrolysis Plant)
บริษัทได้ดำเนินการโครงการโรงงานแปรรูปขยะพลาสติกและยางเก่าให้เป็นน้ำมันดิบหรือเชื้อเพลิงเหลว (Pyrolysis Plant) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 652 ล้านบาท โดยดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2557 โดยโครงการดังกล่าวจัดเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการ RDF Plant ตามที่กล่าวข้างต้น โดยมีโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเหลวตั้งอยู่ในบริเวณเขตโรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี โครงการดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้บริษัทได้นำน้ำมันที่ผลิตได้ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถบรรทุกเพื่อใช้ขนส่งวัตถุดิบในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัท นับเป็นการลดต้นทุนพลังงานให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัทสามารถผลิตน้ำมันเพื่อใช้ผสมร่วมกับน้ำมันดีเซลในการขนส่งของบริษัทประมาณ 3 ล้านลิตรต่อปี
ธุรกิจสถานีให้บริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (NGV)
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99% โดยบริษัท) ดำเนินธุรกิจสถานีให้บริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ภายใต้โลโก้ทีพีไอพีแอล โดยสถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด มีสถานีให้บริการน้ำมันจำนวน 8 สถานี สถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติจำนวน 1 สถานี และสถานีให้บริการทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวน 3 สถานี ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ (Fertilizer Plant)
บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99%โดยบริษัท)ดำเนินโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 1,011 ล้านบาท โดยดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF (RDF Plant) เนื่องจากเป็นการนำส่วนที่เป็นสารอินทรีย์ที่คัดแยกจากขยะมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารจัดการขยะที่รับเข้ามาอย่างครบวงจรโดยมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในบริเวณเขตโรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ได้รับการรับรองมาตรฐาน IFOAM สำหรับผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (Liquid Fertilizer) ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2554 โดยเน้นเรื่องการปลอดสารพิษ และโลหะหนักที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ภาวะอุตสาหกรรมปุ๋ยชีวอินทรีย์
ในปี 2558 สถานะการณ์เกษตรอินทรีย์ไทยเริ่มขยายตัวในทิศทางที่ดีด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน และ ประชาสังคมเป็นหลัก บริษัททีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่มีคุณภาพมาตรฐานสูง ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากผู้ใช้และเกษตรกร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2558 หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสาขาพืชหดตัวร้อยละ 5.8 ในขณะที่สาขาปศุสัตว์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.2 จากสภาวะปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตการเกษตรลดลง ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตเกษตรลดลงไปด้วย
คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2559 จะขยายตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.5 – 3.5 ซึ่งจะช่วยทำให้เพิ่มยอมขายและมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
ธุรกิจผลิตแอมโมเนียมไนเตรทและกรดไนตริก
บริษัท ไนเตรทไทย จำกัด (ถือหุ้น 50% โดยบริษัท ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ไนเตรทไทย จำกัด (บอจ. 5) ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายละเอียดปรากฏตามหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับปี 2558 ข้อ 39) เป็นผู้นำและครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์แอมโมเนียมไนเตรทและกรดไนตริก โดยบริษัท ไนเตรทไทย จำกัด เป็นผู้ผลิตกรด ไนตริกเพียงรายเดียวในประเทศธุรกิจน้ำดื่มตราทีพีไอพีแอล
บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มตราทีพีไอพีแอล ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นน้ำดื่มคุณภาพ ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค โดยผ่านเทคโนโลยีการกรองแบบ Reverse Osmosis System (RO) ใช้ปั๊มแรงดันสูงในการกรองน้ำผ่านเยื่อกรองคุณภาพสูง ฆ่าเชื้อโรค โดยใช้แสง UV (Ultra Violet) และนำก๊าซโอโซนมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำดื่มด้วย ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์การอาหารและยา (อ.ย.) โดยบริษัทนำมาใช้สำหรับการบริโภคภายในองค์กรและจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกธุรกิจรับกำจัดกากอุตสาหกรรม
บริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมจากโรงงานต่างๆ ภายในประเทศ ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม ซึ่งได้รับอนุญาตโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยกำจัดกากอุตสาหกรรมแล้ว ยังช่วยลดการใช้วัตถุดิบและเชื้อเพลิง ซึ่งมีผลให้สามารถประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมธุรกิจสำรวจปิโตรเลียม
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้น 99.99% โดยบริษัท) ได้ลงนามในสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 2/2554/110 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L29/50 กับกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อเป็นผู้รับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้โอนทรัพย์สิน พร้อมโอนสิทธิ ผลประโยชน์ และภาระผูกพัน ซึ่งเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 2/2554/110 ดังกล่าว ในราคาตามมูลค่าทางบัญชีไปให้ บริษัท ทีพีไอ โรงกลั่นน้ำมัน (1997) จำกัด แล้ว โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ยังต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกันกับบริษัท โรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ (1997) จำกัด ในการปฏิบัติตามสัมปทานและตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
นอกจากนี้ บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ผ่านบริษัทย่อย บริษัทร่วม ซึ่งครอบคลุมทั้งธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงบรรจุสินค้า เป็นต้น